
สุทธิพงศ์ วัฒนจัง หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ชมพู ฟรุตตี้ ผู้ที่มารับหน้าที่ดูแลค่ายนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทำหน้าที่เดียวกันในค่าย "เมโลดิก้า" บริษัทเดียวกันมาแล้ว กล่าวถึงที่มาว่า
"จริงๆ ผมคุยกับเฮีย (เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์)เรื่อยๆ ว่า มานั่งวิเคราะห์ว่า ทำไมตลาดเพลงเปลี่ยนไป 2-3 ปี หลังซีดีขายไม่ได้ มันเกิดจากอะไร จนค้นพบว่า เป็นเพราะเด็กๆ เขาไม่ซื้อซีดีแล้ว หรือซื้อก็จริง แต่เขาก็เอาไปแปลงไฟล์เป็นเอ็มพี 3 อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครพกเครื่องเล่นซีดีแล้ว ฉะนั้นทำให้เราต้องยอมรับว่า ไลฟ์สไตล์ของเด็กวันนี้เปลี่ยนไป
ช่วง 2-3 ปี ก่อนหน้านี้สภาพการณ์มันยังไม่ชัด วงการเพลงจึงค่อนข้างทำอะไรลำบาก พอเมื่อกลางปีที่แล้วผมได้คุยกับเฮียอีกครั้ง เฮียก็บอกว่า ตลาดอาร์เอสที่เราเคยทำอยู่และประสบความสำเร็จ ตอนนี้ก็ยังมีอยู่ เพียงแต่เด็กเขายังไม่มีสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ รวมถึงหลังอาร์เอสแยกค่ายออกมา ก็ยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจับตลาดกลุ่มนี้จริงๆ ผมจึงเอามาทำ เพราะแต่ไหนแต่ไรอาร์เอสเองก็ค่อนข้างทำตลาดนี้ได้ดีอยู่แล้ว"
ชมพู บอกว่าเมื่อรับงานมาแล้วก็ต้องมาผนวกกับแนวคิดที่สรุปมาแล้วว่า ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์เด็กเปลี่ยนไป เด็กมักจะเข้าไปหาเพื่อน ฟังเพลงในอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นสื่อทีวีที่เคยใช้โปรโมทกันจึงไปไม่ถึงเด็กกลุ่มนี้
"ยุคนี้ศิลปินจะมาแค่ร้องเพลงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นศิลปินที่มีไลฟ์สไตล์ร่วมไปกับเด็กได้จริงๆ เป็นเพื่อนเขาได้ เราสังเกตได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาศิลปินมีบทบาทต่อวัยรุ่นน้อยลง เพราะเหมือนเด็กเขาจะคิด จะทำไปคนละทางกับศิลปิน
ผมมานั่งคิดดู จึงเลือกลูกน้องของผมที่คิดว่า เขาจะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ เขาชอบเล่นอินเทอร์เน็ต และเขาจะรู้เลยว่า เด็กชอบเล่นเวบอะไรอยู่ รูปแบบเวบแบบไหนที่คนอายุเท่านี้ชอบ เราเลยสรุปว่า เราจะทำเวบไซต์ให้เด็กกลุ่มอายุ 12-15 ปี ไปพร้อมกับการทำค่ายกามิกาเซ่
ผมมองว่า เวบไซต์ที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่เวบเฉพาะกลุ่มของเด็ก ทำให้บางครั้งก็มีคอนเทนท์ที่เป็นอันตราย แต่เขาต้องเข้าไปดูไปเล่น เพราะมันไม่มีเวบที่เป็นพื้นที่ของเขา เราอยากทำเวบที่เป็นเพื่อนเขา ภายใต้แนวคิด เวบที่เพื่อนหาเพื่อน เพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนปรับทุกข์กับเพื่อน โดยเชื่อมไปกับศิลปินของกามิกาเซ่ เด็กจะเข้ามาพูดคุย และทำกิจกรรมต่างๆ ไปกับศิลปินของเราได้"
เมื่อถามว่า แนวคิดที่มาเจาะกลุ่มตลาดก่อนวัยรุ่นเป็นการย้อนกลับไปในอาร์เอสยุคแรกใช่หรือไม่ ชมพู ตอบว่า
"เราคิดว่าการกลับไปจุดเดิมจุดที่อาร์เอสเคยทำจะดีกว่า เรามองว่า ความต้องการของเด็กกลุ่มอายุเท่านี้ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีใครทำงานออกมาได้ในแบบที่เขาต้องการ เด็กรุ่นนี้ฟังเพื่อนมากกว่าฟังพ่อแม่ เราเอาความเข้าใจเด็กมาสร้างอะไรที่เป็นครึ่งทาง เราไม่ได้สนับสนุนให้แหกคอก หรือสงบเสงี่ยมจนไม่มีความคิด แต่ต้องคุยกันอย่างมีเหตุผล และเราก็คงไม่ไปสอนเขา เพราะเขาคงไม่ฟัง เราจึงมีเวบไซต์เข้ามาเพื่อพูดจากับเขา
ตลาดเพลงตอนนี้เราทำเพลงออกมาให้เขาเฉยๆ ไม่ได้ เพลงต้องเป็นมากกว่า เราต้องยิงเพลงเข้าไปในไลฟ์สไตล์ของเขา กามิกาเซ่จะทำเพลงที่ออกมาจากใจเด็กจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคิดไว้นานแล้ว ในช่วงแรกผมอยากจะทำแบบเบอรี่โกบุ โซโจมาง่ะ มอร์นิ่ง โมซุเมะ แต่คิดจะทำแค่อัลบั้ม ก่อนที่จะขยายมาจับอย่างจริงจัง"
ถามต่อว่า มีบางคนมองว่า เป็นการคิดตามแบบค่ายโดโจซิตี้ของค่ายเบเกอรี่ในอดีต และกลุ่มจี-จูเนียร์ ของค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้บริหารกามิกาเซ่พูดชัดเจนว่า
"ผมไม่ได้มองตรงนี้ อย่างที่บอกผมมองไปที่เบอรี่โกบุ โซโจมาง่ะ มอร์นิ่ง โมซุเมะ นี่คือเราพูดจริงๆ ตรงๆ เพราะถ้าเราจะหาต้นแบบ เราต้องหาอะไรที่ดีกว่าเรามากๆ ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน หรือดีกว่าเรานิดหน่อย เหมือนเวลาร้องเพลง ผมจะบอกเด็กในค่ายให้หัดร้องเพลงฝรั่ง เนื่องจากเพลงฝรั่งมันมีวิชาให้เรียนรู้มากกว่าเพลงไทย ศิลปินที่ร้องเพลงไทยให้ฟัง เขาก็หัดมาจากเพลงฝรั่ง ถ้าเราอยากเก่งอย่างเขา เราก็ต้องไปหัดตามต้นตอ ถ้าไปตามเขาอีก ความสามารถของเราก็น้อยลงไปอีก

ส่วน จี-จูเนียร์ (สั่นหัว) ผมไม่ได้สั่นหัวเพราะดูถูก เพราะนี่เป็นบุคลิกของผมจริงๆ เวลาผมจะทำอะไร ผมจะมองจากต้นตระกูล ซึ่งในเมืองไทยพูดตรงๆ เราก็เอาต้นแบบมาจากฝรั่งที่ประสบความสำเร็จ และผมก็เชื่อว่า อย่างค่ายอื่นๆ เขาจะทำอะไร เขาก็คงไม่ได้มาเลียนแบบเรา ก็คงเอามาจากต้นแบบของฝรั่งเหมือนกัน"
สำหรับค่าย "กามิกาเซ่" ขณะนี้มีศิลปินในสังกัดทั้งสิ้น 20 คน อายุระหว่าง 11-20 ปี โดยมี โฟร์-มด ศิลปินรุ่นพี่เป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มเปิดตัวศิลปินเบอร์แรกไปแล้วด้วย เฟย์-ฟาง-แก้ว และจะเริ่มส่งผลงานทยอยตามมาทั้งในรูปแบบอัลบั้มและดิจิทัล คอนเทนท์