เรียว กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ฝากผลงานโดดเด่นด้านกำกับฯ นักแสดงกลุ่มได้ยอดเยี่ยม อย่าง "เมล์นรก หมวยยกล้อ", "อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม", "โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ ฯลฯ ล้วนแต่โดดเด่นกับการทำงานกับเหล่านักแสดงกลุ่มให้เป็นทีมเวิร์คได้อย่างดี
แต่เหตุผลใดเล่า เรียว กิตติกร หยิบโปรเจคหนัง ที่มีนักแสดงนำอายุน้อยแค่ 5 ขวบ มาเป็นทีมถึง 10 คน ใน "ดรีมทีม" ภาพยนตร์ใหม่ล่าสุด งานนี้จึงไม่ธรรมดา...
ดูท่า ชีวิตผู้กำกับฯ คงสบายเกินไปเป็นแน่ (ฮา)
"ส่วนตัวอยากดูหนังเรื่องนี้มากเลย พอดี ไม่มีคนทำ งั้นตูทำเอง เพราะจะได้ดู (หัวเราะ) เคยไปดู งานกีฬาอนุบาล กทม. มา เรานึกในใจ เป็นหนังมันต้องสนุก แล้วเรารู้สึกว่า มันมีเรื่องเล่าเยอะเลยในการแข่งขันเกมส์ๆ หนึ่ง เราเคยเล่นกีฬาระบบทีมมา ก็สะดุดประเด็น ว่า 10 คนเอา 9 คน มันจะเป็นยังไง ในความเป็นทีมเวิร์ค แล้วถ้าเป็นเด็กอนุบาลด้วย มันจะเป็นยังไง มันมีเรื่องพ่อแม่ เรื่องครู โค้ช ความคาดหวังเยอะแยะไปหมดพ่วงมาด้วย
ยิ่งสืบค้น กีฬาชักเย่อ สืบๆ ประวัติไปก็ยิ่งน่าสนใจว่า เป็นนันทนาการ หรือ กีฬาแข่งขัน แล้วการค้นเรื่อง ฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ กายภาพในการชักเย่อ เป็นเรื่องเป็นราวไว้ด้วย เอ๊ะ... ฟิสิกส์การชักเย่อมีจริงด้วย เราก็มองว่าน่าสนใจ เป็นเหตุผลว่า ทำไม ทีมตัวเล็กกว่าถึงชนะตัวใหญ่ได้ เพราะมันมีหลักวิทยาศาสตร์ เทคนิคกีฬาประกอบด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องใจสู้อย่างเดียวแล้ว ยิ่งศึกษาดูก็น่าสนุก
การทำงาน "ดรีมทีม" ทำให้เราได้ใกล้ชิด ได้เห็น ได้เข้าใจเด็กอย่างที่เด็กเป็น ซึ่งย้ำสิ่งที่เราพูดเสมอๆ ว่า ความพร้อมของเด็กมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ มันมาตอนไหนก็ไม่รู้ มันขึ้นอยู่กับจังหวะชีวิต
พยายามจะบอกว่า อย่าไปคาดหวังกับเด็กเลย เด็กทุกคนมีวิถีชีวิตของเขาเอง เด็กเหมือนการแข่งขันกีฬาน่ะ เราก็เตรียมให้ดีที่สุด แต่คาดหวังผลไม่ได้ แต่ลุ้นได้ ลุ้นสนุกด้วย"
เกมส์นี้ มีฮา 5 ขวบ สู้สุดใจ!!!
จันทิมา เลียวศิริกุล (เอมี่) โปรดิวเซอร์มือหนึ่งค่ายอาวอง คุณแม่ลูกชายสองคนตอบรับไอเดีย หนังกีฬาเด็กอนุบาล ที่มาพร้อมกับความสนุก กวนๆ มีลุ้น มีฮา ส่วนจะจบได้เฮ หรือ ได้โฮ นั้น ต้องรอลุ้นกันในโรงหนัง
"ใช่ ชอบไอเดียหนังที่ถ่ายทอดเรื่องด้วยสายตาเด็ก จับหัวใจความเป็นเด็กจริงๆ เด็กจะซน จะเซี้ยวก็เด็กจริงๆ เป็นเด็ก 5 ขวบแต่สู้สุดใจ แข่งกีฬากันอย่างจริงจัง แต่เด็กก็คือเด็ก มันแข่งเอาจริงเอาจังนะ แต่เปิดเรื่องมาก็ต่อยไข่โค้ชแล้ว แข่งกีฬามีแพ้ มีชนะ แต่ผู้ใหญ่คนเดียว โดนเด็กรุมเป็น 10 คน นึกภาพเป็นหนังสนุก น่ารักไปกับความแก่นเซี้ยวของเด็ก ต่อให้แข่งกันจริงจังขนาดไหน เด็กก็คือเด็ก ความมั่วของเด็ก แข่งบ้าง ร้องไห้บ้าง ลุ้นบ้าง ขำบ้าง นักกีฬาคนไหนจะได้ลงแข่ง คนไหนจะร้องไห้ ทีมนี้ ทีมนั้น ใครจะชนะไหม? เป็นหนังกีฬาที่มีอารมณ์ตลกแบบใสๆ
ไม่รู้นะ เราไม่เคยเห็นหนังไทยแนวนี้มาก่อน หนังที่ใช้เด็กเล็กขนาดนี้ เยอะจำนวนขนาดนี้ แล้วมาถ่ายทอด บันทึกเก็บความเป็นเด็กแบบ ประชิดตัวกันเลย จับอารมณ์เด็กเรียลลิสต์ขนาดนี้
ตัวเราเองพอใกล้ชิดเด็กก็รัก ได้เห็นความน่ารัก เห็นแง่มุม ก็คิดว่า ผู้ใหญ่คนอื่นก็น่าจะมาเห็นบ้าง ความสนุก ความสดใส บริสุทธิ์ แต่ก็มีความแสบ ซนอย่างที่ เด็กๆ เขาเป็นจริงๆ เป็นความตลก สนุก สดใส ที่ผู้ใหญ่เราๆ ก็อาจจะลืมไปแล้ว พอได้ดูแล้วค่อยนึกขึ้นได้ว่า ใช่....เราก็เคยรู้สึกอย่างนี้ เราเข้าใจมันนะ
เด็กอยากแข่งกีฬา ก็คิดแค่มาแข่ง แต่ผู้ใหญ่จะมองเด็กแบบไหน จริงๆ มันแอบมีเรื่องราว พ่อแม่ยุคใหม่มองลูกแบบไหน มองเขาอย่างที่เขาเป็น หรือมองเขาอย่างที่เราอยากให้เป็น"
"5 ขวบ" VS "รุ่นใหญ่" ใครหนอ ยกธงขาว!!!
เพื่อจะบันทึกความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง บวกกับความน่ารักของเด็กๆ แนวการทำงานของภาพยนตร์เรื่อง "ดรีมทีม" จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การไปค้นหาเด็กๆ จากโรงเรียนอนุบาล และถ่ายทำเรียงลำดับเหตุการณ์ ปล่อยให้นักแสดงเป็นธรรมชาติมากที่สุด
เรียว กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับฯ ระบายความรักเด็ก (ฮา) ... "ดรีมทีม" ว่า
"ตอนนึกอยากดูหนัง น่าจะสนุก แต่ตอนทำคงไม่สนุก คือ การถ่ายเด็ก 5 ขวบ ไม่ใช่เรื่องง่าย สภาพเด็ก บวกความซน ต้องพิถีพิถัน ตั้งแต่เลือกทีมงานให้น้อยที่สุด คนที่ทนเด็กได้ ใจเย็น ต้องทำงานกับเด็ก ต้องสนุกได้กับเด็ก ทำงานเรื่องนี้ เหมือนเรามีลูกเพิ่มมา 10 คน เตรียมใจว่า งานจะหนักในการบริหารเด็ก การเอาเด็กมาเข้าหน้าเซต ทำอย่างไรเด็กจะเข้าใจว่า พร้อมถ่ายทำ นี่จึงเป็นเรื่องยากของทีมงาน"
เป็นความตั้งใจของ ผู้กำกับฯ ที่จะไม่เลือกเด็กจากโมเดลลิ่ง
"เราไม่เลือกเด็กโมเดลลิ่ง เด็กที่ฝึกการแสดงมา ด้วยเหตุผล 2 - 3 อย่าง คือเพราะมันไม่เป็นธรรมชาติ ถูกปั้นแต่งแล้ว แนวคิดที่จะทำหนังของเราคือ ปล่อยให้เด็กเป็นธรรมชาติมากที่สุด ล้อมกรอบให้น้อยที่สุด เด็กเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น
เราเลือกเด็กหลากหลาย ต่างระดับ ต่างโรงเรียน ต่างพื้นฐาน แต่อยู่ในเกณฑ์อายุ 5-6 ขวบ เด็ก 5 ขวบเป็นช่วงกำลังซน เริ่มพูด เริ่มรู้เรื่อง หาเด็กเผื่อเป็นหนังกีฬาด้วยนะ นอกจากเด็กที่เล่นหนังได้ ต้องมีเด็กที่เล่นกีฬาได้ด้วย มีทักษะด้านกีฬา ใช้มือ แขน ขาได้พร้อมหรือยัง
หน้าตาก็มีส่วน แต่ไม่ใช่เรื่องหน้าตาดี เป็นเรื่องรัศมีดารา เด็กบางคน ร้องไห้เราเฉยๆ แต่เด็กบางคนแค่แบะ จะร้องไห้ เราก็สงสาร รีบโอ๋ อันนี้ก็มีส่วน
โปรดักชั่น 4-5 เดือน เสียเวลาไปกับการทำความเข้าใจเด็ก เป็นประเด็นหลักเลย ทำอย่างไรเด็กถึงเล่นหนังได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเด็ก ซึ่งแต่ละวันไม่เหมือนกัน แต่จากประสบการณ์ลูกเราเองด้วยส่วนหนึ่ง เรียนรู้จากเด็ก 10 คนด้วยส่วนหนึ่ง"
ชาญศักดิ์ ลีลาเกษมสันต์ (เอี๋ยม) ผู้ช่วยผู้กำกับฯ และโค้ชแอ็คติ้ง รับหน้าที่ดูแลการแสดงของเหล่าเด็กๆ ตัวน้อย "ดรีมทีม" สุดแสบซน อธิบายเส้นทางการคัดสรรนักแสดงเด็ก จนถึงกลยุทธ์ในการหลอกล่อเด็กๆ ในกองถ่าย
"คัดเลือกเด็กไม่ได้เริ่มดูจากหน้าตา แต่หาเด็กมีคาแร็คเตอร์ ในบรรดาโรงเรียนอนุบาลที่ทีมงานไปตระเวนดู เด็กเป็นร้อยๆ คน เด็กมีคาแร็คเตอร์นี่ เห็นกันแว่บแรกแว่บเดียวรู้ได้เลย
ทีมงานเราแบ่งสายกันไปตามโรงเรียนอนุบาล แล้วทุกเย็นเอารูปเด็กมารวมกัน คัดเด็กออก ก็เป็นการแคสเด็กที่เยอะมาก มากกว่า 3,000 คน รวมที่เรียกโมเดลลิ่งมาด้วย อีกกว่า 600 คน เพื่อหาให้ได้เพียง 10 คนนี้ ในรอบ 1 เดือนเต็มๆ เพื่อหาเด็ก "ดรีมทีม" ที่ต้องรับบทในภาพยนตร์เรื่องนี้
เราก็มองมุมเด็กแต่ละคน ว่ามีวิธีการพูดอย่างไร มีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบแต่ละคนที่ตรงจุดไหนบ้าง วิธีการพูดแต่ละคนอย่างไร ให้เป็นไปโดยธรรมชาติ มันเหมือนเราเลี้ยงเค้า เป็นลูกหลานที่เราต้องดูแลแล้ว ส่วนหนึ่งคือทำงาน แต่อีกส่วนคือ ดูแลให้เขาแข็งแรงขึ้น โตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น เด็กแต่ละคน มากันต่างที่ ต่างครอบครัว ต่างโรงเรียน ต่างสภาพแวดล้อม บางคนมารวมกันแล้วเข้ากันไม่ได้ เราก็ต้องพยายามจูนให้เข้าเป็นกลุ่มเป็นทีมเดียวกันให้ได้
จุดประสงค์ของเรา ไม่ได้หาเด็กแล้วมาฝึกให้เล่นได้ เราไม่ได้เอาเด็กมาทำให้ได้อย่างที่เราอยากให้เป็น แต่ทีมงานเราจะพร้อมที่จะบิดตัวเองให้เป็นอย่างที่เด็กเป็น
การกำกับฯ เด็กมันวัดผลไม่ได้ว่า วิธีไหนใช้ได้กับใคร มันต้องลองไปเรื่อยๆ ถ้าลองไปแล้วยังไม่ใช่ก็เปลี่ยนทันที คือ การบ้านเราคือ ค้นหา inner ภายในของเด็ก แต่เราทำการบ้านก่อนล่วงหน้าไม่ได้ อารมณ์เด็กแต่ละวันมันไม่เหมือนกัน
เด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่บังคับไม่ได้ สิ่งที่เรากลัวที่สุด คือ กลัวเด็กเบื่อกองถ่าย ไม่ยอมมา เราก็ต้องปล่อยไปก่อน บังคับไม่ได้ ให้เขาสนุกกับกองถ่าย แต่เราโชคดีที่เราได้เด็ก 5 ขวบที่อดทนกับคน อดทนกับบรรยากาศกองถ่ายได้ เราโชคดีได้เด็กทั้ง 10 คนนี้ เด็กที่พ่อแม่เข้าใจ จึงกลายเป็นจุดแข็งของทีมนี้
หนัง "ดรีมทีม" ไม่มีหลอกถ่าย ถ่ายจริงๆ หมด เด็กๆ เป็นนักแสดงหมด เพียงแต่ถ่ายแล้วเทคไหนใช้ได้ เทคแรก หรือ ต้องถ่ายใหม่อีกวันหนึ่ง เด็กที่เราเห็นพัฒนาการ เข้าใจการแสดงอย่างเห็นได้ชัดคือ เป๊ะ นี่เข้าใจสุดๆ ส่วนคาร์บิว นี่เข้าใจจังหวะรีแอ็คชั่น"
ส่วนคำถามว่า ถ้าให้เกรดวัด มาตรฐานความซนของเด็ก "ดรีมทีม" แล้ว โค้ชแอ็คติ้ง ผู้ควบคุมเด็กให้คะแนนความซนเด็กๆ เท่าไร
"โอ้โหเลยน่ะ ผมให้ เกรด A+ เลย ยังมีอีกหลายๆ มุมที่ไม่มีใครเจอ ผมเจออยู่คนเดียว สารพัดวิธี เช้าๆ ต้องเช็คแล้วว่า มาจากบ้านอารมณ์ไหน วัดไม่ได้เลยว่า ใครแสบสุด แต่ละวันเราต้องเจอตอนเช้าเลย ถึงจะรู้ดัชนีชี้วัด ตอนเด็กตื่นมาเราก็เริ่มผจญภัยกันเลย"
กว่าจะบันทึก ความบริสุทธิ์ ใสซื่อที่เป็นธรรมชาติของเด็กได้ ทีมงานต้องใช้ทั้งจิตวิทยา ขนมหลอกล่อ รวมถึงบางวัน ต้องอาศัย คุณแม่มากองถ่ายจะช่วยเพิ่มพลังการถ่ายทำ เรียว กิตติกร ย้ำวิธีการให้ได้ความเป็นเด็กจริงๆ ก็ต้องปล่อยให้เด็ก เป็นธรรมชาติที่สุด
"เบื้องหลังหนัง "ดรีมทีม" สนุกมาก 24 ชั่วโมง ดูซิ เด็กอนุบาล พวกนี้ทำอะไร ทำงานกับเด็กเหลี่ยมมันเยอะมาก ทุกวันที่ถ่ายหนังมีเรื่องสนุก เรื่องปวดหัว มีเรื่องมาทุกวัน
ถ่ายๆ หนังไปเด็กก็ไม่คิดหรอกว่า นี่กำลังถ่ายหนัง เพราะทุกอย่างตรงหน้าเด็กคือเรื่องจริง ช่วงแข่งชักเย่อ เราถ่ายเทคเดียวตลอด เราไม่เคยเทคเด็กนะ เด็กก็สู้ตาย ไม่อยากแพ้ไง ไม่อยากเป็นที่โหล่
ต้องบอกว่า หนังเป็นอย่างที่เด็ก 5 ขวบ "ดรีมทีม" เค้าเป็นนั่นล่ะ เด็กดรีมทีม พวกนี้ล่ะ ที่จะทำให้หนังเป็นไปตามที่พวกเขาเป็น หนังมันจะตลก จะกีฬา จะลุ้นไม่ลุ้น ก็เพราะพวกเด็กดรีมทีมนี่ล่ะ
ทางเดียวที่จะเห็นเสน่ห์เด็กพวกนี้ คือ ล้อมกรอบให้น้อยที่สุด ไม่จำกัดสิ่งที่จะเกิดขึ้น เรียลลิตี้กันเลย(ฮา)"
นอกจากไม่เลือกใช้เด็กจากโมเดลลิ่ง การถ่ายทำก็ถ่ายเรียงลำดับเหตุการณ์ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกสับสน เริ่มตั้งแต่ฟอร์มทีม ฝึกซ้อม จนถึงวันแข่งขัน กีฬาอนุบาลแห่งชาติ ที่ยิมเนเซียม 6 สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ซึ่งการถ่ายทำฉากใหญ่ ได้รับความอนุเคราะห์จากโรงเรียนอนุบาล 10 แห่งมาร่วมแข่งขันกับทีม "ดรีมทีม"
อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน นักแสดงที่เพิ่งร่วมงานกับ เรียว กิตติกร เป็นครั้งแรก เล่าความรู้สึกของการถ่ายทำฉากแข่งขันกีฬาอนุบาลแห่งชาติ
"ถ่ายฉากแข่งขันอลังการมาก เด็กอนุบาลจาก 10 โรงเรียน พันกว่าคนมารวมอยู่ในยิมเนเซียม ตอนแรกเคยนึกในใจว่า หนังมันจะยังไงนะ ถ่ายกันในโรงเรียนอนุบาล มีที่บ้านนิดหน่อย แต่พอมาเห็นฉากใหญ่ โอโอ้พี่!! บึ้มมาก ทำให้บรรยากาศและอารมณ์ร่วมของเด็กเกิดขึ้นกันจริงๆ ที่ตรงนั้น เราสัมผัสได้ว่า ถึงอารมณ์จริงๆ เด็กบางคนถึงกับร้องไห้ บางคนถึงกับไม่ยอมกัน เพราะนึกว่าจริง
เด็กดรีมทีมเวลาแพ้ ก็ปอดกันไปจริงๆ เลย มีเศร้า มีซึมแบบหงอยๆกันไป แต่ก็มีน้องเซน 1 ที่คอยบิ้วท์และปลอบเพื่อนๆ ในทีมให้กำลังใจกัน เป็นความสดที่น่ารัก เราได้เห็นถึงความตั้งใจของผู้กำกับฯ เลยครับ หนังที่เราเห็นว่าเล็กๆ แต่เอาเข้าจริงๆ มันใหญ่มาก"
ฉากแข่งขัน ตอนที่เด็กๆ แข่งชักเย่อกัน เราก็สนุกไปด้วย ดูทีมโน้น ตัวใหญ่จัง ความแตกต่างของแต่ละทีม กองเชียร์แต่ละทีม บางทีมมาเป็นรุ้งเลย บางทีมมาเป็นศาลพระภูมิเลย ความเป็นเด็ก บริสุทธิ์จริงๆ น่ารักมาก"